จากปัญหาวิกฤติของเชื้อไวรัส Covid – 19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา ว่าเราจะตั้งรับกับปัญหานี้อย่างไร แนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง กับความท้าทายของโลก (การศึกษา) ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของการระบาดครั้งใหญ่นี้ และส่งผลกระทบกับการศึกษาในระยะยาวอย่างไร

ครู – นักเรียน ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์

คณะอาจารย์จาก คณะครุศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์กลุ่มแรกๆที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้วิธีการสอนให้กับนักเรียนเป็นระบบออนไลน์ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศปิดสถานศึกษา อาจารย์กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกวิชาหรือทุกคณะจะสามารถมาเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ได้ทั้งหมดเพราะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และประสิทธิภาพของการสอนสำคัญที่สุดคือห้องเรียนออนไลน์ยังทดแทน ห้องเรียนออฟไลน์ หรือห้องเรียนจริงๆ ไม่ได้ คือปฏิสัมพันธ์

วิกฤติ คือ โอกาส

การเรียนออนไลน์นั้น มีข้อจำกัดของความพร้อมส่วนบุคคลมากมาย โดยเฉพาะในโรงเรียนที่อยู่ตามต่างจังหวัดที่คุณครูก็ยังไม่มีความคุ้นชินกับโปรแกรมต่างๆ หรือนักเรียนอาจจะไม่มีอุปกรณ์ รวมไปถึงเรื่องของสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ติดๆ ขัดๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนอย่างเอาจริงเอาจัง ว่าจะสนับสนุนครูนับแสนคนอย่างไร ต้องมีการประเมินความพร้อมอย่างรอบด้าน เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา ก็คือพัฒนาผู้เรียน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การถกเถียง การมีปฏิสัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่าการเรียนระบบออนไลน์จะมีข้อจำกัดหรือมีอุปสรรคบ้าง แต่วิกฤติครั้งนี้ทำให้สถาบันการศึกษา ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้ปรับตัวให้ชินกับการเรียนออนไลน์ หลายวิชาเริ่มเห็นทิศทางความเป็นไปได้ในการเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยพยายามสนับสนุนมาตลอด และนี่อาจจะเป็นการต่อยอดการศึกษาของไทยในอนาคต

 

คาดการณ์การศึกษาในอนาคต

  1. การเรียนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีที่เป็นจริงได้ในวันนี้ ก็เพราะเทคโนโลยีที่ถึงพร้อมโดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การศึกษา เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่ไม่เคยคาดคิด
  2. เกิดการร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐและเอกชน พัฒนาช่องทางการเรียนรู้แบบใหม่ สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาในช่วงเวลาที่วิกฤติแบบนี้ เช่น กระทรวงการศึกษาของจีนจัดตั้ง รวบรวมหน่วยงานหลายองค์กรมาร่วมกันทำแพลตฟอร์มการเรียนทั้งระบบออนไลน์และถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ รวมทั้งพัฒนาระบบพื้นฐานที่เอื้อกับการเรียนรู้อื่นๆ เสริมเข้าไปด้วย
  3. ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมอาจกว้างขึ้น การเรียนออนไลน์เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และทำได้จริงมากที่สุด แต่การทำเช่นนี้ได้ ประเทศนั้นต้องมีโครงการการสื่อสารและอินเตอร์เน็ตที่ดีและราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย แต่ต้องยอมรับว่าในประเทศที่ยังไม่พัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ยังไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ตอบรับเทคโนโลยีเหล่านี้ การเข้ามาของการเรียนออนไลน์ ยิ่งทำให้เด็กยากจนและผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ถูกละทิ้งและมองข้ามไป

ทั้งนี้การคาดการณ์ต่างๆ เพียงเพื่อให้อุดรอยรั่ว กับการเปลี่ยนแปลงการศึกษา การศึกษาจะยังคงอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัว ทักษะ รวมถึงการคิดค้นการพัฒนาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โควิด – 19 อาจจะไม่โหดร้ายต่อการศึกษาเสมอไป แต่เป็นการเตือนให้ เราเกิดการตั้งรับ ตื่นตัว ต่อสถานการณ์ สร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยี ยืดหยุ่นกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้น ให้เกิดการสมดุล ในอนาคตสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปเราทำได้เพียงคาดการณ์ แต่การเรียนรู้ผ่านออนไลน์ อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไป ไม่ว่าการศึกษาจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใด สิ่งที่เราหนีไม่พ้นก็คือเรื่องของ การเปลี่ยนแปลง เราทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ คือต่อให้ไม่มีเรื่องของโรคระบาด การศึกษา หรือไม่ว่าจะเรื่องอะไรถ้าเรายังย่ำอยู่ที่จุดเดิม เราจะไม่มีวันพัฒนาหรือก้าวหน้าได้เลย ประเทศของเราก็อาจจะถอยหลังสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้เลย